ประวัติความเป็นมา

ยโสธร เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย จัดตั้งโดยคณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 อันให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมกันตั้งเป็นจังหวัดยโสธร และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 สืบไป โดยมีนายชัยทัต สุนทรพิพิธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรคนแรก[3]

จังหวัดยโสธรเดิมเป็นหมู่บ้านเรียกว่า บ้านสิงห์ท่า ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงยกฐานะเป็นเมืองยโสธร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ถึง พ.ศ. 2443 รวมเข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานีจนถึง พ.ศ. 2450 เมื่อยุบบริเวณอุบลราชธานี จัดตั้งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี กระทั่งมีประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว

จังหวัดยโสธรอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 128 เมตร ตั้งศาลากลางจังหวัดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร ณ ละติจูด 15° 47´.6 เหนือ ลองจิจูด 104° 08´.7 ตะวันออก ประกอบด้วยอำเภอ 9 อำเภอ, ตำบล 78 ตำบล และหมู่บ้าน 835 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,162 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดมุกดาหาร, ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี, ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีภูเขาขนาดเล็กเป็นบางบริเวณในตอนเหนือของจังหวัด ด้านตะวันตกของจังหวัดมีลำน้ำยังไหลผ่านจากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่แม่น้ำชี

ในด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่จังหวัดยโสธรมีการทำนา ปลูกปอแก้ว มันสำปะหลัง และถั่วลิสง มีแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ พระธาตุยโสธร พระธาตุก่องข้าวน้อย สวนสาธารณะพญาแถน หมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน ซากเมืองโบราณบ้านสงเปือย ซากเมืองโบราณดงเมืองเตย พระธาตุกู่จาน ภูถ้ำพระ เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน รอยพระพุทธบาทจำลอง

.

 
 

องค์การบริหารส่วนตำบลดู่ทุ่ง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร : www.duthong.go.th
โทร 0-4558-2555 แฟกซ์ 0-4558-2555 ต่อ 18
สายด่วน 045-582555 ต่อ 15